0294: จะมีวิกฤตซ้อนวิกฤตมั้ย?

เวลานี้ดูเหมือนว่า วิกฤตซับไพรม์ซึ่งได้พัฒนาจนกลายเป็นวิกฤตโลกเมื่อปีที่แล้วจะอยู่ในขั้นที่ควบคุมได้แล้ว เพราะถึงตอนนี้ไม่น่าจะมีสถาบันการเงินขนาดใหญ่แห่งไหนล้มเพิ่มเติมอีก ส่วนเศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะยังไม่ฟื้นแต่ก็เริ่มหาที่ยืนได้ วิกฤตครั้งนี้ดูจะไม่ได้เลวร้ายขนาดที่กูรูหลายท่านคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว

เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ แก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ด้วยการให้ภาครัฐฯ เข้าไปแบกรับความเสียหายทั้งหมดของภาคเอกชนเอาไว้แทน ตลาดจึงไม่ต้องเข้าสู่ภาวะล่มสลาย นับเป็นการดับเครื่องชนของพญาอินทรี เพราะทั้งเฟดและกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ต่างแบกหนี้ไว้จนหลังแอ่น งานนี้เจ๊งเป็นเจ๊ง ถ้าทำไม่สำเร็จ ลุงแซมยอมตายไปเลย

แต่ก็ดูเหมือนเดิมพันครั้งนี้จะได้ผลเสียด้วย ทุกอย่างเดินไปได้ตามแผนที่ลุงแซมวางเอาไว้ แม้เครดิตของลุงแซมลดลงไปมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าก็ยังมีเหลือพอที่จะก่อหนี้จำนวนมหาศาลเพื่อมาแก้ปัญหาในครั้งนี้อยู่

ดังนั้น ถ้าหากเวลานี้ใครยังกลัวว่าจะยังมีวิกฤตซ้อนวิกฤตหรือไม่ สิ่งที่ต้องควรจับตามองมากที่สุดน่าจะเป็น ภาครัฐฯ ของสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลังและเฟด ว่าจะสามารถประคองตัวเองต่อไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่  

เมื่อปีที่แล้ว เฟดเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินที่มีปัญหาสามารถกู้เงินจากเฟดได้โดยไม่จำกัด เฟดอุดหนุนเงินกู้เหล่านั้นการสร้าง Reserve ใหม่เข้าไปในระบบธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่เคยมีอยู่ในระบบประมาณ $11 billions กลายเป็น $900 billions ภายในเวลาอันสั้น!!!!! เทียบเท่ากับการพิมพ์เงินขึ้นมา Reserve ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตามไปด้วย เรื่องนี้จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและทำให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาปล่อยสินเชื่ออีกครั้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟดบอกว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดกัน เพราะเมื่อตลาดเงินเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงินที่กู้เงินด่วนไปก็จะพากันมาใช้คืนหนี้ทำให้ Reserve ลดลงไปเอง ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ตามที่เฟดพูด เพราะ ถึงเวลานี้ Reserve ที่เพิ่มขึ้นมา $900 billions ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว ภายในเวลาแค่ไม่ถึงครึ่งปี นอกจากนี้ ถ้าหาก Reserve เกิดไม่ลดลงต่อหลังจากนี้ เฟดก็ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ด้วยการขออนุมัติที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับ Reserve ที่ขอกู้มา อัตราดอกเบี้ยที่เฟดกำหนดจะจ่ายให้จะเป็นตัวกำหนดเพดานขั้นต่ำของ fed fund rate ซึ่งจะทำให้เฟดสามารถควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์จาก Reserve ส่วนเกินนี้ได้ จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่า เฟดจะควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ได้    

อย่างไรก็ตาม แม้ Reserve จะมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อต้นปี เฟดก็ได้สร้างความกังวลใหม่ให้กับตลาดอีก ด้วยการประกาศจะเข้าแทรกแซงตลาดเงินโดยตรง (Quantitative Easing) ซึ่งเทียบเท่ากับการพิมพ์เงิน โดยการซื้อพันธบัตร $300 billions เพื่ดกดดอกเบี้ยระยะยาวลง ซื้อบอนด์ของเฟดดี้และแฟนนี่ $200 billions และซื้อ MBS อีก $1.25 Trillions เพื่อพยุงตลาดอสังหาฯ ตลาดกังวลว่า เมื่อโปรแกรมนี้จบลงแล้ว เฟดจะขายตราสารเหล่านี้ออกมาอย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟดบอกว่าสำหรับพันธบัตรนั้นไม่น่าห่วงเพราะเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับตลาดทั้งตลาด การขายออกมาคงไม่มีผลกระทบอะไร แต่สำหรับบอนด์หรือ MBS นั้น เกือบจะเรียกได้ว่าเฟดกลายเป็นตลาดไปแล้ว ถ้าหากขายออกมาทันทีจะเป็นปรากฏการณ์ที่ใหญ่มากแน่นอน ถ้าดูจากพฤติกรรมในอดีตของเฟด เชื่อว่า เฟดน่าจะถือตราสารเหล่านี้จนครบอายุแทน

เนื่องจากอายุเฉลี่ยของตราสารเหล่านี้เท่ากับ 5-10 ปี ดังนั้นเฟดจะต้องหาทางค่อยๆ ดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินที่เกิดขึ้นมาก่อนระหว่างทาง ซึ่งเชื่อกันว่า เฟดจะใช้วิธีออกตั๋วเงินระยะสั้นๆ ของตัวเองหมุนไปเรื่อยๆ เพื่อมิให้กระทบตลาด ซึ่งเฟดก็ได้ขออนุมัติเตรียมเอาไว้แล้ว

สรุปแล้ว แม้ตัวเลขจะดูใหญ่ แต่ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรสำหรับเฟด เพราะเตรียมอาวุธไว้เยอะ ลุงเบนน่าจะเอาอยู่ ถ้าจะห่วง กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ น่าจะมีอะไรให้ห่วงมากกว่าเฟด ไว้จะมาเล่าให้ฟังครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *