0285: adaptive vs. rational

สมมติฐานเกี่ยวกับการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนของมนุษย์มี 2 แบบด้วยกัน แบบแรกเชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจแบบ Adaptive แบบที่สองเชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจแบบ Rational

Adaptive คือ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ ถ้าข้อมูลใหม่เปลี่ยนแปลงไปทางไหน ก็ค่อยปรับลดประมาณการไปทางนั้นลงทีละนิด เช่น GDP ปีล่าสุดอยู่ที่ 3% ก็ประมาณว่า GDP ปีหน้าจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ด้วย ถ้า GDP ไตรมาสล่าสุดออกมาลดลง ก็ปรับประมาณการ GDP ปีหน้าใหม่ให้ลดลงตาม เช่น 2.3-3.3% เป็นต้น พูดอีกอย่างก็คือ ประมาณการจะค่อยๆ เรื่อยไปตามตัวเลขใหม่ที่ออกมาทีละนิด

Rational คือ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ก็นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลแล้วตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับอนาคตขึ้นมาจากข้อมูลเหล่านั้น เช่น แม้ GDP ปีล่าสุดจะอยู่ที่ 3% แต่ถ้ามีข่าวว่าสหรัฐฯ มีวิกฤตซับไพร์ม ทำให้เชื่อว่ากำลังซื้อจากต่างประเทศน่าจะกำลังหายไปเร็วๆ นี้ ประเทศไทยพึ่งการส่งออกถึง 70% เพราะฉะนั้น ปีหน้าคงกระทบหนัก แบบนี้ไม่ต้องรอให้ GDP รายไตรมาสออกมาแล้วค่อยๆ ปรับประมาณการลงตาม แต่มองข้ามช็อตไปได้เลยว่า GDP ปีหน้าน่าจะติดลบมากแน่นอนเช่น -4% แบบนี้เป็นต้น

ทุกวันนี้ดูเหมือนหน่วยงานของรัฐฯ จะตั้งประมาณการแบบ Adaptive เพราะตอนที่เกิดซับไพรม์ใหม่ๆ ก็บอกว่า จีดีพีปีหน้าน่าจะลดลง แต่คงเป็นบวก เช่น 3% แต่พอถึงไตรมาสสี่ออกมาติดลบเยอะมากก็ปรับประมาณการปีหน้าใหม่เป็น 0-2% ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ พอเริ่มเห็นตัวเลขไตรมาสหนึ่งว่าจะแย่กว่าไตรมาสสี่ก็บอกว่าจะพิจารณาปรับประมาณการปีหน้าใหม่ให้อยู่ในแดนลบ การค่อยๆ ปรับประมาณการลงทีละนิดแบบนี้อาจมีข้อดีตรงที่ไม่ทำให้คนตกใจมากเกินไป

แต่ดูเหมือนว่าตลาดทุนจะตัดสินใจแบบ Rational เพราะตลาดปรับตัวลงมารวดเดียวอย่างหนักตั้งแต่ตอนครึ่งหลังของปีที่แล้วไปแล้ว ตลาดไม่รอให้ตัวเลขจริงออกมาแย่ลง ก่อนแล้วค่อยปรับตัวลงตาม

ถ้านักลงทุนตัดสินใจแบบ Adaptive ตอนที่ตลาดหุ้นดิ่งอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว แต่งบไตรมาส 4 ออกมายังดีอยู่ นักลงทุนก็อาจจะคิดไปว่า เป็นเรื่องของอารมณ์ตลาด พื้นฐานไม่เห็นเปลี่ยนมากขนาดนั้น ทำให้นักลงทุนเข้าไปช้อนซื้อ แต่เมื่อถึงเวลานี้ เราก็ตระหนักได้แล้วว่า ตลาดคิดแบบ Rational สถานการณ์ของโลกไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าราคาหุ้นเลย และดูเหมือนจะเลวร้ายลงได้อีกมาก ในตลาดหุ้น ผลประกอบการมักปรับตัวตามหลังราคาหุ้นเสมอ ถ้าใครจะต้องรอให้งบการเงินแสดงว่ากำไรลดลงก่อน แล้วจึงค่อยตัดสินใจ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว

งบการเงินมีไว้เพื่อตรวจสอบความผิดปกติในบริษัทมากกว่าที่จะใช้เพื่อตัดสินใจลงทุนหรือวัดมูลค่าหุ้น สิ่งที่ตลาดสนใจคือผลประกอบการจะวิ่งไปทางไหนในอนาคต ไม่ใช่ผลประกอบการเป็นอย่างไรในปัจจุบัน 

  

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *