แนวคิดของนักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว

ทุกวันนี้ ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ล้ำหน้าไปมาก อาจจะเรียกได้ว่า อยู่คนละยุคกับบ้านเรา ประมาณว่า แนวทางที่เรากำลังเริ่มๆ ผลักดันให้นักลงทุนใช้มากขึ้น กลับเป็นแนวทางที่ประเทศเหล่านี้กำลังมีคนใช้น้อยลงเรื่อยๆ เลยก็ว่าได้

อย่างในสายเทรดเดอร์เวลานี้ machine trading แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นกระแสหลักของตลาดที่พัฒนาแล้วไปแล้วก็ว่าได้ โวลุ่มของตลาดหุ้นนิวยอร์กทุกวันนี้ก็เป็น machine trading มากกว่า 50% ไปแล้ว จะเรียกว่าเป็นของใหม่ก็คงไม่ใช่ แต่พอจะเรียกว่าเป็นกระแสหลักได้แล้วมากกว่า ย่ิงคิดถึง AI ที่กำลังบูมมากในสหรัฐฯ ตอนนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า machine trading อาจจะกลายเป็นโวลุ่มเทรดกว่า 90% ในโลกอนาคต เพราะอัลกอริทึมในการเทรดจะถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จนไม่เหลือเหตุผลที่มนุษย์ธรรมดาจะเทรดเองอีกต่อไป

ในสายลงทุน ผมยกให้ Passive Investment เป็นแนวทางที่มาแรงที่สุด ดังจะเห็นได้จาก ทุกวันนี้ กระแสเงินสดไหลเข้า Passive ETFs ในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ กระแสเงินสดไหลกลับกำลังออกจาก Active Funds เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ พัฒนาไปถึงระดับที่การเอาชนะตลาดเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีสารพัดกองทุนทั้งกองทุนรวม เฮ็ดจ์ฟันด์ ไพร์เวทเอควิตี้ อัลกอริทึ่มเทรด ไฮฟรีเควนซีเทรด หุ้นตัวใหญ่มีนักวิเคราะห์ติดตามเป็นร้อยๆ คน เรียกว่า เต็มไปด้วยคนที่ช่วยกันขุดหา excess returns แล้ว arbritrage จนแทบไม่เหลือช่องว่างอะไรให้ทำกำไรกันง่ายๆ แล้ว Passive Investing จึงได้รับความนิยม เพราะการันตีเสมอว่า เราจะไม่แพ้ตลาด (แม้ว่าจะไม่ชนะด้วยก็ตาม) เพราะการชนะตลาดนั้นทำได้ยากมาก เป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ในอนาคต สายลงทุนจะมีแต่คนลงทุนผ่าน Passive ETFs (ปี 2013 index funds ถือครองสินทรัพย์ 20% ของอุตสาหรกรรมกองทุนทั้งหมด และกำลังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ)

แม้แต่เบิร์กไชฮาร์ดาเวย์ ของวอเรน บัฟเฟต ซึ่งยังทำผลตอบแทนระยะยาว 40 ปีชนะตลาดได้ แต่ถ้าหากคิดเฉพาะช่วงปี 1999-2013 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นยุคใหม่ เบิร์กไขส์ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้เพียงปีละ 6.4% เท่านั้น ซึ่งยังชนะ S&P index ที่ 4.7% อยู่ แต่ว่าไม่ได้มาก และแพ้พวก small-cap index (10.5%) แบบทิ้งห่างเลย  ปัจจุบันเรายังพบวิธีเอาชนะ S&P index ได้อยู่ ได้แก่ การลงทุนใน small value stocks หรือเลือกหุ้นด้วย ROE และ momentum เป็นต้น แต่ส่วนต่างผลตอนแทนถือว่าแคบมาก และแคบลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในอนาคต ส่วนต่างจะหายไปในที่สุด ทำให้ Passive Investing กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

สำหรับบ้านเรา มีเหตุผลอยู่เหมือนกันที่จะยังคงใช้ Active Investing ต่อไป เพราะตลาดหุ้นบ้านเรายังพัฒนาไปไม่ถึงจุดเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้ช่องว่างในการทำกำไรน่าจะยังเหลืออยู่มากพอสมควร (อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทำวิจัยเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากพอ ทำให้ไม่ทราบเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นรึเปล่า)แต่ในอนาคต ถ้าหากเทคโนโลยี หรือโนฮาว์จากต่างประเทศไหลเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะมีสภาพเดียวกับตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วก็มีสูง ไม่เสียหายอะไรหากนักลงทุนจะศึกษาเทรนด์การลงทุนในต่างประเทศไว้บ้าง เป็นการเตรียมตัวเพื่ออนาคตครับ      

 

(ภาพประกอบจาก businessinsider.com)

2 Replies to “แนวคิดของนักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว”

  1. ตอนนี้ผมเปิดให้อ่านบทความสมาชิกได้ฟรีหมดแล้วนะครับ สมาชิกจะได้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งล็อกอินด้วย

    ส่วนหนังสือโรงเรียนตลาดหุ้นไทย ซึ่งรวบบทความให้อ่านง่ายๆ สบายตาบนกระดาษ ผมลดราคาลงมาเหลือ 550 บาท (มีค่าส่ง 50 บาท) เหลืออีกแค่ไม่กี่เล่ม ใครยังไม่มีและสนใจซื้อรีบสั่งได้ http://www.dekisugibooks.com/product/13/โรงเรียนนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย-เล่ม-1-และ-เล่ม-2-ขายคู่ เมื่อหมดแล้วคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะจัดทำต้นฉบับเพื่อผลิตเป็นแบบ Print-on-demand ออกมาขายได้ใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *