สภาพแวดล้อม กับ กลยุทธ์

คนเรามีความโน้มเอียงที่จะชอบกฎที่ตายตัว แบบว่าใช้การได้ในทุกสถานะ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องคิดอะไรเองอีก ความเชื่อต่างๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนี้

แต่ในแง่กลยุทธ์ ซุนวูกล่าวว่า เราต้องทำความเข้าใจสภาวะแวดล้อมให้ถ่องแท้ให้ได้เสียก่อน รู้เขา รู้เรา จากนั้นเราจึงจะสามารถกำหนดกลยุทธ์ที่ทำให้เราได้เปรียบมากที่สุด โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมนั้นๆ เป็นเกณฑ์ ในแง่นี้ มันบอกเป็นทางอ้อมว่า กลยุทธ์ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว แต่ต้องปรับไปตามสภาพแวดล้อมด้วย (แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่า กลยุทธ์ไม่มีหลักอะไรเลย ต้องมีหลัก แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน หลักก็ต้องเปลี่ยนตาม)

ตลาดทุนยุคนี้มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากยุค 30-50’s ที่เป็นยุคที่หลักการลงทุนของหลายๆ สำนักถูกสร้างขึ้นมา ธุรกิจสมัยใหม่มีความเป็น “โรงงาน” น้อยลง มี intangible value มากขึ้น ตลาดการเงินก็ถูกบิดเบือนโดยนโยบายการเงินมากขึ้น ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะทำให้ดอกเบี้ยต่ำผิดปกติตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกับธนาคารสมัยก่อนที่เน้นรัดเข็มขัด เพราะกลัวเงินเฟ้อมากๆ ตอนนี้เงินฝืดน่ากลัวมากกว่า

นั่นหมายความว่า หลักการลงทุนบางอย่างที่เคยใช้ได้ดีในอดีต บางจุดก็ยังคงใช้ได้ดีอยู่ แต่บางจุดที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว ก็อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น P/BV เป็นอัตราส่วนที่เคยใช้ได้ดีในยุคอดีตที่ธุรกิจส่วนใหญ่มีอาคารโรงงานเครื่องจักรเป็นสินทรัพย์หลัก แต่ทำให้เราหลงทางในยุคปัจจุบัน เพราะธุรกิจสมัยนี้แบรนด์ ทุนมนุษย์ และเทคโนโลยี กลายเป็นส่วนที่มีค่ามากกว่าสินทรัพย์ถาวรของบริษัทอย่างมากมาย แต่มันไม่ได้ถูกใส่ไว้ใน P/BV เลย ในขณะที่ P/E นั้น พอจะใช้ต่อไปได้มากกว่า

ตลาดหุ้นสมัยใหม่ เงินท่วมโลกตลอดเวลา ตลาดมีแนวโน้มจะเป็น High Valuation แบบเรื้อรัง แนวคิดเรื่อง Buy-and-hold ต้องใช้แบบระมัดระวัง เพราะโอกาสที่จะไปซื้อเอาตอนฟองสบู่มีเยอะมาก เพราะหุ้นแพงอยู่เกือบตลอดเวลา ธุรกิจสมัยนี้ยังมีวงจรชีวิตที่สั้นลงเรื่อยๆ การถือลืม มักอันตราย เพราะยุคตกต่ำของธุรกิจมาถึงเร็วกว่าสมัยก่อนมาก คนที่จะ Buy-and-hold ได้ดีต้องเป็นนักรอคอย เพราะต้องรอนานมากๆ กว่าราคาหุ้นจะลงมาถึงจุดที่สมเหตุสมผลจริงๆ ซึ่งบางทีก็ต้องรอนานมากเสียจน ทำให้กลยุทธ์สมัยนี้ไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่ในยุคสมาธิสั้นอีกต่อไป ถ้านักลงทุนระยะยาวเปลี่ยนจากการคิดแต่ว่าจะ buy-and-hold มาเป็นการ reevaluate หุ้นเป็นระยะๆ ถ้ายังดีอยู่ก็ถือต่อได้ ถ้าไม่ดีแล้วก็ต้องขาย ก็น่าจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากกว่า 

กฎอย่างเช่นการถือหุ้น 100% ตลอดเวลา ก็ดูเป็นกฎที่ไม่เหมาะกับยุคนี้เท่าไร เพราะยุคนี้หุ้นแพงตลอดเวลา แต่เพราะความเป็นฟองสบู่ โอกาสที่อยู่ดีๆ มันจะ crash แรงๆ จึงมีได้บ่อยๆ ถ้าถือหุ้น 100% ตลอดเวลา เวลา crash ทีไร เราก็ไม่เคยมีเงินสดมาซื้อสักที ทำให้เรากลายเป็นคนที่มีหุ้นต้นทุนสูงตลอด ส่วนประเภทถือเงินสด 100% ตลอดเวลารอหุ้น Crash อย่างเดียว ก็ใช่ว่าจะดี เพราะบางทีมันก็ไม่ crash สักที หรือบางทีมันขึ้นไปเยอะมากจนพอมัน crash จริงๆ มันยังลงมาไม่ถึงตอนแรกที่ตัดสินใจว่าจะรอเลย ไปๆ มาๆ  กฎการลงทุนแบบ DCA ดูเหมาะสมดี เพราะถ้าหุ้นแพงตลอดก็ซื้อไว้บ้างแต่เดือนละนิดเดียว ทำให้มีเงินสดเหลือไว้รอโอกาสเฉลี่ยต้นทุนต่ำๆ เมื่อโอกาสมาถึงได้ด้วย  ถือเป็น best of both worlds สำหรับ average person

ที่เล่ามาเป็นแค่การยกตัวอย่างนะครับ ลองพิจารณาวิธีการลงทุนของตัวเองดูว่า มันเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากขนาดไหน เผื่อมีอะไรที่จะต้องปรับ เพื่อช่วยให้ผลตอบแทนของเราดีขึ้น

5 Replies to “สภาพแวดล้อม กับ กลยุทธ์”

  1. คำถามคับ ถ้าเกิดว่ารายได้เรา เมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตแล้วตอนแรกๆก็มีนัยยะอยู่ แต่พอ ซื้อแบบ DCA ไปจนพอร์ตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆวันหนึ่ง กลายเป็นว่าพอหุ้นตก สัดส่วนที่เราซื้อมันน้อยมาก แบบนี้ควรใช้กลยุทธ์อะไรดีคับ

    1. DCA ก็ควรซื้อด้วยเงินจำนวนเดิม ถ้าพอร์ตเล็กลงเพราะหุ้นตกแรง การซื้อด้วยเงินเท่าเดิมก็จะได้จำนวนหุ้นมากขึ้น

  2. สมมติเรา DCA หุ้น หรือกองทุนนึงมาจนถึงระดับนึงแล้ว และต้องการจะ reallocate ไปหุ้นหรือกองทุนอีกอันนึง ทีนี้เราควรจะขายตัวเดิมทิ้งทั้งหมด แล้วค่อยๆทยอยซื้อทีละนิดของอีกตัวนึง หรือว่าโยกทั้งหมดที่เป็นมูลค่าของเดิมลงที่ตัวใหม่ แล้วค่อยๆทยอยสะสมเพิ่มทีละนิดต่อไปครับ

    การทำแบบแรก เท่ากับเรากลายเป็นถือเงินสดเยอะกว่าที่ควรจะเป็นทันที อัตราส่วนเงินสดที่วางแผนไว้จะไม่เป็นไปตามที่ต้องการอ่ะครับ

    1. ที่ผมคิดไว้คือ ถ้าขายตัวเดิมทิ้ง เอาเงินมาหารซื้อทั้งหกตัวในเดือนต่อไป

      แต่ถ้าหากยุ่งยากเกินไป ก็ไม่ต้องทำก็ได้ ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนตัวหุ้นบ่อยมาก ก็คงไม่เป็นไร

      แล้วแต่ความสะดวกครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *