คำว่าปั่นหุ้น

คำว่า ปั่นหุ้น เป็นคำชาวบ้าน ซึ่งที่จริงแล้วอาจหมายถึง พฤติกรรมที่แตกต่างกันได้หลากหลายอย่าง 

ความหมายที่พบได้ทั่วไป  มากที่สุด ก็น่าจะเป็นการที่ใครสักคน (หรือกลุ่มคน) ที่มีเงินมากๆ รุมซื้อหุ้นตัวนั้นมากๆ เพื่อลากราคาหุ้นให้ทะยานขึ้นไป คนอื่นเห็นว่าหุ้นขึ้นเร็ว เขียวจัง อยากได้กำไรบ้าง ก็จะพากันมาซื้อตาม หวังฟันกำไรบ้าง ยิ่งมีคนเข้ามามากขึ้น ราคาหุ้นก็ยิ่งเพิ่มขึ้นได้อีก กลายเป็น พอราคาหุ้นขึ้นไปอีก ก็ยิ่งมีคนอยากเข้ามามากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีแรงซื้อพาหุ้นให้ขึ้นต่อไปอีก เรียกว่า หุ้นติดลมบน จนกว่าเพลงจะจบ ใครลุกช้าสุดคนนั้นแพ้ รับผลขาดทุนไปคนเดียว

บางครั้งคนที่ปั่นหุ้นแบบนี้ทำงานเป็นทีม มีหลายคนช่วยกันเปิดบัญชีหลายๆ บัญชี โยนและรับ กันเอง วนไปวนมาหลายๆ รอบ ให้ดูเหมือนหุ้นมีโวลุ่มคึกคัก มีคนต้องการเยอะ โดยไม่ต้องใช้เม็ดเงินมากๆ แบบการซื้อทางเดียว (ซึ่งเสี่ยงกว่าเพราะอาจจะ Exit ไม่ได้) เพราะซื้อและขายแล้วกลับมาซื้อใหม่ ซึ่งกรณีแบบนี้ก็มักจะต้องเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สามารถ waive ค่าคอมมิชชั่นได้ด้วย

กรณีเช่นนี้บ้านเราถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน และเป็นข้อหาที่มีคนโดน กลต.เล่นงานอยู่บ่อยๆ แต่ถ้าเป็นในอเมริกา เข้าใจว่า ปัจจุบันนี้ไม่ถือว่ามีความผิดแล้ว เพราะเขาถือว่าการซื้อหรือขายหุ้นเป็นเรื่องที่ใครใคร่ซื้อก็ซื้อ ใครใคร่ขายก็ขาย คนที่ทำแบบนี้เขาไม่ได้มาบังคับให้คนอื่นซื้อตาม แต่คนอื่นซื้อตามเพราะโลภเอง แต่กฎหมายบ้านเรายังเป็นแบบคิดแทนนักลงทุนอยู่แถมยังมี Ceiling/Floor/SP กันสารพัด พลอยกระทบกระเทือนคนอื่นที่จะซื้อจะขายอยู่เหมือนกัน

ในสหรัฐฯ นั้น ข้อหาปั่นหุ้นมักจะต้องมีเรื่องของการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) มาเกี่ยวข้องด้วย ถึงจะมีความผิด เพราะการใช้ข้อมูลภายในเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนคนอื่นชัดเจน ต่างจากการซื้อหรือขายเพื่อสร้างราคาซึ่งเป็นเสรีภาพที่ทุกคนควรจะทำได้ ดังนั้น คำว่า ปั่นหุ้น อาจมีทั้งแบบที่ซื้อขายสร้างราคาอย่างเดียว กับแบบที่มีการใช้ข้อมูลภายในร่วมด้วย ซึ่งกรณีแรกนั้น บางคนอาจมองว่าผิด แต่บางคนอาจมองว่า ต้องเป็นกรณีหลังเท่านั้น ถึงจะเรียกว่าผิด ส่วนกรณีแรกนั้น ต้องโทษแมงเม่าเองที่มีความโลภ (เพราะถ้าโดดเข้าไปเล่นแล้วได้กำไร แมงเม่าก็ไม่ได้เอาเงินมาแบ่ง กลต. เพราะฉะนั้น ถ้าขาดทุนก็ไม่ควรจะมาบ่นเช่นกัน )

เราอาจคิดว่า คนปั่นหุ้น ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย แต่ที่จริงแล้ว การปั่นหุ้นมีความเสี่ยงเยอะมากที่จะล้มเหลว ตัวอย่างเช่น ถ้าแก๊งค์ปั่นหุ้นอุตส่าห์ใช้เงินตั้งเยอะ ทำราคาหุ้นขึ้นไปซะสวยเลย แต่โดนผู้ถือหุ้นหลักบางคนของหุ้นตัวนั้นซึ่งมีหุ้นอยู่ในมือเยอะมาก เห็นว่าราคาดี ก็เลยหักหลัง เทหุ้นตัวเองออกมาเพื่อทำกำไร ทำให้ราคาหุ้นร่วงแบบกราวรูด ก็เท่ากับแก๊งค์ปั่นหุ้นโดยผู้ถือหุ้นหลักชุบมือเปิบ ดังนั้น บ่อยครั้งก็เป็นการยากที่จะเชื่อว่า หุ้นบางตัวถูกปั่นโดยบุคคลภายนอกล้วนๆ โดยที่ผู้ถือหุ้นหลักของหุ้นตัวนั้น ไม่ได้รู้เห็น หรือให้ความร่วมมือใดๆ เลย เพราะคนที่คิดจะปั่นหุ้นสักตัว ย่อมต้องแน่ใจว่าจะไม่โดนชุบมือเปิบ การติดต่อไปยังผู้ถือหุ้นหลัก เพื่อแบ่งผลประโยชน์กัน และกับการที่ผู้ถือหุ้นหลักจะไม่เทหุ้นออกมา จึงเป็นการลดความเสี่ยงที่สำคัญยิ่งของการปั่นหุ้น ฉะนั้น จึงยากที่จะเชื่อว่า หุ้นบางตัวโดนปั่นโดยที่ผู้ถือหุ้นหลักไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

หุ้นที่มีนักลงทุนสถาบันหลายๆ แห่งถือหุ้นเยอะๆ เช่น 3-4 กองทุนขึ้นไป ดูเป็นหุ้นที่ปั่นยากที่สุด เพราะเป็นเรื่องยากที่จะตกลงกับกองทุนพร้อมกันทีเดียว 3-4 กอง ต่างจากหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นหลักถือหุ้นใหญ่แค่รายเดียว ที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย ยิ่งถ้าหากมี float น้อยๆ ยิ่งดี ควบคุมสถานการณ์ได้ง่าย ถ้าหากหุ้นที่ float อยู่ในตลาดส่วนใหญ่อยู่ในมือของแก๊งค์ปั่นหุ้นแล้ว ก็ยิ่งควบคุมสถานการณ์และราคาได้ตามอำเภอใจ

นอกจากนี้ การที่ผู้ถือหุ้นหลักให้ความร่วมมือด้วยนั้น ยังสร้างข้อได้เปรียบในเกมให้กับผู้ปั่นหุ้นได้อย่างมหาศาล เพราะผู้ถือหุ้นหลักช่วยออกข่าวดี ข่าวร้าย ตามจังหวะเวลาที่แก๊งค์ปั่นหุ้นต้องการได้ด้วย  ถือว่าเป็นการปั่นหุ้นแบบมีความปลอดภัยสูง ถ้ามีใครเข้ามาชุบมือเปิบ ก็บอกให้ผู้ถือหุ้นหลักออกข่าวร้ายออกมาเพื่อทุบหุ้นลงไปใหม่ ก็ได้ตามใจชอบ ข่าวหลายๆ อย่างเป็นข่าวที่ไม่ต้องเป็นความจริงก็ไม่มีความผิด เช่น บอกว่าจะเข้าซื้อกิจการอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ถึงเวลาจริงๆ บอกว่า คุยกันแล้วไม่ลงตัว ขอยกเลิก แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการให้ข่าวเท็จ เพราะธุรกิจย่อมมีความไม่แน่นอน อย่างนี้เป็นต้น

ความที่การปั่นหุ้นต้องมีงานที่ต้องทำหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การทำราคาอย่างเดียว การปั่นหุ้นจึงมีลักษณะเป็น “ขบวนการ” (organized crime) คือ ต้องมีองคาพยบของการปั่นหุ้นทั้งระบบ มีทีม approach ผู้ถือหุ้นหลักเพื่อเสนอผลประโยชน์ พอปั่นหุ้นตัวหนึ่งจนเสียชื่อไปหมดแล้วก็ย้ายทีมไป approach ผู้ถือหุ้นหลักของหุ้นตัวใหม่ (เป็นระบบ turn-key คือ ผู้ถือหุ้นหลักไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ทำตามที่บอกทุกอย่างแล้วรอแบ่งเปอร์เซ็นต์อย่างเดียว) มีช่องทางสำหรับการออกข่าว หรือเขียนเชียร์ผ่านสื่อได้ ไม่ใช่ว่าแค่มีเงินเยอะๆ แล้วจะนั่งอยู่หน้าจอปั่นหุ้นได้เลย แบบนั้นเสี่ยงสุดๆ ครับ 

สมัยก่อนเวลาปั่นหุ้นจะปั่นหุ้นอะไรก็ได้ เพราะรายย่อยสนใจแค่ราคาหุ้นที่ขึ้นลงแรงๆ เท่านั้น ไม่ได้สนใจภาพลักษณ์ของตัวหุ้นเท่าไรนัก หุ้นยิ่งเน่ายิ่งชอบเพราะคิดว่าต้องมีเจ้ามือปั่นแน่ๆ แต่สมัยนี้ รายย่อยมีชั้นเชิงมากขึ้น ถ้าธุรกิจของหุ้นดูเน่ามากๆ บางทีเรียกแขก แขกก็ไม่ยอมมา เหมือนกัน นักปั่นหุ้นยุคปัจจุบันจึงปรับตัวมีชั้นเชิงทางการตลาดมากขึ้นด้วย สมัยนี้เวลาจะปั่นหุ้นสักตัว ต้องเลือกปั่นตัวที่บริษัทมีจุดดึงดูดนักลงทุนในเชิงปัจจัยพื้นฐานได้ด้วย ถึงจะเรียกแขกง่าย เช่น พีอียังต่ำอยู่ ช่วยให้เกิดเหตุผลว่าเป็นหุ้นแวยู หรือต้องมีสตอรี่ที่ฟังดูเซ็กซี่รองรับ หรือมีกูรูหุ้นที่มีต้นทุนทางสังคมสูงๆ บางคนเคยเชียร์ เพราะจะสร้างศรัทธาได้ง่าย ปั่นหุ้นในตลาดหุ้นยุคนี้แค่ทำราคาหุ้นอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้วครับ

17 Replies to “คำว่าปั่นหุ้น”

  1. ขอบคุณมากครับ เป็นบทความที่มีประโยชน์มากจริงๆครับ ได้ความรู้มากจริงๆครับ เขียนมาให้อ่านเยอะๆนะครับ

  2. ชอบบทความนี้ครับ ไม่ค่อยมีใครเขียนเรืองแบบนี้ ผมดูแล้วหุ้นที่ขึ้นได้เยอะๆแถมวอลุ่มมา ส่วนใหญ่ก็ต้องมีจ้าวลาก รายย่อยซื้อกันเองก็ขึ้นยาก ยิ่งหุ้นTurnaroundยิ่งลากกันมัน กว่ารายย่อยจะรู้ข้อมูลจริงๆก็อาจจะเลิกเล่นตัวนี้แล้ว แต่รายย่อยจะกำไรรึป่าวก็แล้วแต่โชควาสนา

  3. ขอบคุณครับ

    ผมคิดว่าที่น่ากลัว คือ การปั่นหุ้นที่มีพื้นฐานพอใช้ได้ น่าจะโน้มน้าวนักลงทุนได้ดี ว่า บ. จะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นๆ

    คิดไปคิดมา การจะเอาตัวรอดในตลาดหุ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยในระยะยาว

  4. รบกวนถามพี่โจ๊กครับ …อนาคตพี่บอกว่าคงเขียนบทความน้อยลง แต่พวก 7 THLTG หรือ พวกพอรต์ DG ก็ยังคงติดตามผลงานพอรต์ตามรอบในแต่ละปีอยู่ใช่ป้าวครับ? / ติดตามผลงานพี่มาตลอดครับ

    ขอบคุณครับ ^^

    1. พอร์ต 7thLTG ทำต่อครับ จะมีการมาสรุปเป็นระยะๆ ตามปกติ ส่วน DG นั้น ไม่ได้สาธิตให้ดู เพราะคิดว่ามันดูเป็นการชี้นำตัวหุ้นมากเกินไป

  5. มุมมอง Make sense มาก เยี่ยมมากครับ แต่บางมุมผมคิดว่าก็ดีนะครับ สำหรับรายย่อยที่เป็น Trader ( ที่ไม่โลภมาก ) ใช้โอกาสการเคลื่อนไหวของราคาทำกำไร ดีกว่าหุ้นไม่เคลื่อนไหว
    ทุกฝ่ายต่างต้องการได้กำไร เช่นกันทุกฝ่ายก็มีความเสี่ยง ไม่ทราบคุณโจ๊กมีความคิดเห็นอย่างไร

  6. ชอบบทความนี้มากครับ ขอถามนอกเรื่องหน่อย
    ตราสารอนุพันธ์ช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ไหม
    เหมาะสมกับนักลงทุนหุ้นรายย่อยหรือเปล่าครับ

    1. ความเห็นส่วนตัว ผลิตภัณฑ์ของ TFEX ถูกออกแบบมาเพื่อการเก็งกำไรระยะสั้น มากกว่าที่จะนำมาใช้ป้องกันความเสี่ยงจริงๆ การนำไปใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงนั้นมีที่ใช้ได้อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ว่าจำกัดมากครับ

      จากที่เคยฟังโบรกเก็บสถิติ ลูกค้ารายย่อย 10 คน จะขาดทุน TFEX ประมาณ 10 คนครับ

  7. ถ้า free float น้อยอาจจะทำให้ควบคุมราคาได้ แต่จำนวนรายย่อยที่เข้าไปซื้อตามก็น่าจะน้อยมากรึเปล่าครับ ดีไม่ดีปริมาณเงินของรายย่อยอาจจะน้อยกว่าเจ้ามือมาก แล้วแบบนี้จะคุ้มกับการปั่นหรอครับ

    1. ผมเคยคิดถึงประเด็นนี้เหมือนกัน วิธีที่ผมคิดว่าเป็นไปได้ และน่าจะเป็นอยู่ด้วยก็คือ เวลาปั่นหุ้น เราจะไม่ปั่นขึ้นไปแค่ 30-50% แต่จะปั่นขึ้นไป 500-1000%

      แมงเม่าที่ติดกับดักจริงๆ ไม่ใช่ตอนที่ปั่นขึ้นไป แต่เป็นตอนที่ค่อยๆ ทิ้งลงมา เช่น ปั่นจาก 1 บาท ไป 10 ก่อน พอปล่อยของลงมา เหลือแค่สัก 8 บาท ตอนนี้จะมีคนเข้าไปเก็บเยอะมาก เพราะรู้สึกว่า 8 บาท ถูกกว่า 10 บาทมาก ตอนนี้แหละที่จะออกของได้อย่างมหาศาล โดยไม่ขาดทุนเลย เพราะ 8 บาทก็ยังกำไรตั้ง 800%

  8. เป็นบทความที่ให้ความรู้ ซึ่งหาอ่านได้ยาก
    มีประโยชน์ และทรงคุณค่ามากครับ
    อ่านจบแล้ว ชวนให้คิดถึงบทความ The Crash of 1907
    ที่ท่านแม่ทัพเคยเขียนไว้เมื่อนานมาแล้ว (http://www.dekisugi.net/archives/6080)
    จึงขอเรียนถามเป็นความรู้ ว่า
    การปั่นหุ้น กับ เหตุการณ์สมคบคิดของพี่น้องตระกูล Heinze ในวิกฤตปี 1907 มีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ครับ
    ขอขอบคุณท่านแม่ทัพล่วงหน้านะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *